Social Icons

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

มารู้จักหลักเศรษฐศาตร์กับเศรษฐกิจพอเพียงกันครับ

            เพราะอะไรราคาสินค้าเกษตรบางชนิดถึงถูกจนคนปลูกเป็นหนี้เป็นสิน  เพราะอะไรราคาสินค้าเกษตรบางอย่างถึงได้แพงจนคนปลูกมีอันจะกิน  มาทำความรู้จักปัญหาเหล่านี้กันครับ






ง่ายๆครับ  มีคำแค่สองคำที่คนพอเพียงควรจะรู้ครับ
         คือ  1. อุปสงค์  คือ ความต้องการของผู้บริโภค
                2. อุปทาน  คือ ความต้องการขายสำหรับผู้ผลิต










             ขออธิบายความอย่างนี้ครับ ว่า  ถ้าผู้ผลิตหรือเกษตรกรปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป  มากจนเกินความต้องการของผู้บริโภค  มันก็จะทำให้ราคาลดลงครับ  จะสังเกตุได้จากสินค้าเกษตรบางชนิดที่เกษตรกรเริ่มปลูกใหม่ๆ ไม่ค่อยมีคนปลูกราคาขายจะดีมาก ความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคสูงมาก ทำให้ได้ราคาดีได้เงินเป็นกอบเป็นกำ  แต่เมื่อพอเกษตรกรเห็นคนอื่นขายได้ราคาดีก็เลยแห่ปลูกตามกัน ผลิตสินค้าเกษตรออกมาจนเกินความต้องการของตลาด  จนผู้บริโภคไม่อยากจะกิน ความต้องการของตลาดลดลง  ราคาก็ต้องถูกลงโดยปริยายโดยไม่ต้องสงสัยครับ

                " เริ่มที่ตัวเรา  กินให้อิ่ม ไม่เดือดร้อนก่อนครับ ค่อยเอาไปขาย  จะได้ราคาดี "  คืออย่างนี้ครับ  หลักเศรษฐกิจพอเพียง  ให้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ให้ตัวเองกินอิ่มก่อน  แล้วค่อยคิดที่จะปลูกเพื่อขาย ตราบใดก็ตาม  ที่เกษตรกรกระเสือกกระสนอยากที่จะขาย  เพราะความที่ ค่าปุ๋ยก็ต้องจ่าย ค่ายาฆ่าแมลงก็ต้องจ่าย  ค่าจิปาถะ  สาระพัด ขายตอนที่มีความเดือดร้อนอย่างนี้   คนต้องการขายมากกว่าคนต้องการซื้อ  ราคาตกต่ำแน่นอนครับ
                   

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การนำหัวเชื้อ EM ไปใช้งาน

เรามารู้จักวิธีการนำ EM ไปใช้งานกันครับ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ EM ก่อนครับว่ามันคืออะไร

              EM ย่อมาจาก  Effective micro organism  ถ้าแปลเป็นไทยก็จะหมายถึง จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ หรือมีประโยชน์ที่จะนำไปใช้งาน  ซึ่งจุลินทรีย์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
                 1. จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มี 5-10 %
                 2. จุลินทรีย์ที่ทำลายมี  5-10%
                 3. จุลินทรีย์ที่เป็นกลางๆ มี 80-90%

              สรุปง่ายๆครับ  จุลินทรีย์มีแบบดีและไม่ดีถ้าแบบดีเยอะกว่าก็จะเป็นประโยชน์ถ้าแบบทำลายเยอะกว่าก็จะเป็นโทษครับ ส่วนกลุ่มกลางๆก็จะคอยสนับสนุนกลุ่มที่มีพรรคพวกเยอะกว่าครับ

การนำ EM ไปใช้สำหรับพืช
                 ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า EM นั้นมีหน้าที่ในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชซากสัตว์เพื่อให้เป็นอาหารสำหรับพืช  โดยที่จุลินทรีย์อาจจะไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชแต่อย่างใดดังนั้นการใช้ EM จะต้องคำนึงเสมอว่าจุลินทรีย์จะต้องมีชีวิตและเป็นจังหวะที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเต็มที่พร้อมที่จะทำงาน
                สูตรการนำไปใช้
               1. หัวเชื้อ EM  1  ส่วน
               2. กากน้ำตาล  1  ส่วน
               3. น้ำสะอาด    20 ส่วน
               นำไปหมักไว้  7  วัน  จึงค่อยนำไปใช้งานและใช้ให้หมดภายใน 7  วัน  เพราะว่าจะเป็นช่วงที่จุลินทรีย์เจริญเติบโตมากที่สุดและพร้อมที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สูตรการทำหัวเชื้อ EM

มาทำหัวเชื้อ EM ใช้กัน

สูตรน้ำหมักชีวภาพต่างๆ ล้วนแล้วแต่ไม่ได้บอกวิธีการทำหัวเชื้อ EM มีแต่บอกสูตรน้ำหมักชีวภาพโดยมีส่วนผสมของหัวเชื้อ EM โดยหัวเชื้อ EM  เราจะต้องซื้อมาอีกทีหนึ่ง  ในราคา 60-100 บาท 
วันนี้เรามาเรียนรู้วิธีการทำหัวเชื้อ EM  ด้วยตัวเองครับ

สูตร  1
       1. น้ำมะพร้าวอ่อน 10 ลิตร
       2. สับปะรด  3  กิโลกรัม
       3. กากน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง  1 กิโลกรัม (**น้ำตาลที่ยังไม่ผ่านการฟอกสี)

วิธีทำง่ายๆ
       สับสับปะรดรวมทั้งเปลือกให้ละเอียดพอประมาณ 3 กิโลกรัม  คลุกเคล้ากับกากน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง และน้ำมะพร้าวอ่อน  ในถัง พลาสติก ปิดฝาไว้โดยไม่ต้องปิดสนิท  เก็บไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 3 เดือน จะมีกลิ่นหอมแสดงว่าได้หัวเชื้อ EM  และนำไปใช้เป็นหัวเชื้อ  เพื่อทำน้ำหมักชีวภาพเป็นสูตรต่างๆ  แต่ถ้าหมักไว้แล้วมีกลิ่นเหม็นเน่าแสดงว่าใช้ไม่ได้  ให้ทำใหม่




ภาพ น้ำหมัก EM สูตร 1 หลังจากเวลาผ่านไป 5 วัน  จะมีฝ้าขาวขึ้นที่ผิวหน้า มีกลิ่นหอมเปรี้ยวผสมกลิ่นแอลกอฮอล และกลิ่นหอมน้ำตาล ซึ่งคุณลักษณะแบบนี้ถือว่าใช้ได้



สูตร 2 (สูตร ลุงทองเหมาะ)
        1. ดินจากป่าที่มีจุลินทรีย์มีประโยชน์  ครึ่งกิโลกรัม
        2. แกลบ  3  กิโลกรัม
        3. ใบไผ่แห้ง  3  กิโลกรัม
        4. รำละเอียด  2  กิโลกรัม

วิธีทำง่ายๆ
         นำส่วนประกอบทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยเติมน้ำประมาณ 50 % ใส่ถังพลาสติดปล่อยให้มีรูระบายความร้อน เก็บไว้ 24 ชั่วโมงจะมีเส้นใยคล้ายราขึ้น แสดงว่ามีจุลินทรีย์มีประโยชน์เกิดขึ้น  และหลังจากนั้นอีก 15  วัน  ก็สามารถนำหัวเชื้อนี้ไปหมักเป็นหัวเชื้อ EM ต่อไปได้


         การขยายหัวเชื้อหลังจากหมักได้ประมาณ 1-3 เดือนแล้วสามารถทำได้โดย  นำหัวเชื้อ EM ไปหมักกับสูตรต่างๆเพื่อใช้งานได้ต่อไป

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พืชผักบนคอนโด

กระเพรา  มี 3 สายพันธุ์  คือ กระเพราแดง  กระเพราขาว  และกระเพราผสมระหว่างกระเพราแดงและกระเพราขาว

สรรพคุณ  สำหรับใบ
-  แก้คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากสมดุลธาตุในร่างกายไม่ปกติ
-  แก้ปวดท้อง  ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ไอ
- ขับเหงื่อ
- ขับพยาธิ
- ลดไข้
- เป็นยาอายุวัฒนะ
- รักษาหูด  กลาก  เกลื้อน เชื้อรา
- ไล่ยุง  ไล่แมลงวันทอง




สำหรับกระเพราต้นนี้เพาะจากเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อจากตลาดเป็นซอง ซองละ 20  บาท เขียนว่าเป็นกระเพราแดง  แต่พอปลูกแล้วกลับกลายเป็นกระเพราขาว(สีเขียว)





ต้นกล้าพริก

เป็นการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม หรือ พืช GMOs แล้วจะสามารถนำเมล็ดพันธุ์ที่แก่เต็มที่มาปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อได้หรือไม่


แตงโม




วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แหนแดงสุดยอดปุ๋ยพืชสดเพื่อนาข้าว

           


                      แหนแดง    แหนแดงนับเป็นพืชน้ำที่มีประโยชน์มากในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับปุ๋ยเคมี  อีกทั้งเมื่อนำไปปลูกในนาข้าวสามารถที่ลดปริมาณวัชพืชได้  นับเป็นอีกทางเลือกที่ไม่ควรพลาดของการนำไปใช้ในเกษตรแบบพอเพียง
                           แหนแดง  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ  Azolla spp. เป็นพืชน้ำที่ลอยอยู่บนผิวน้ำมีส่วนประกอบต่างๆ  คือ  ลำต้น ราก และใบ  รากของแหนแดงจะห้อยตามแนวดิ่งลงไปในน้ำและอาจจะฝังลงไปในดินโคลนได้  ใบของแหนแดงจะมีอยู่สองส่วนคือ ใบบนและใบล่าง  ในใบบนจะมีโพรงใบ ซึ่งในโพรงใบนี้จะมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ด้วย  และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้จะสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศ และจะเปลี่ยนให้เป็นสารประกอบแอมโมเนียมให้แหนแดงได้ใช้ประโยชน์ และสามารถเจริญเติบโตได้ดี  และมีส่วนทำให้แหนแดงมีองค์ประกอบของธาตุไนโตรเจนสูงทำให้แหนแดงสามารถที่จะสลายตัวได้ง่าย และปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนและธาตุอาหารอื่่นๆ ให้กับพืชที่อยู่บริเวณใกล้เคียงนำไปใช้ประโยชน์ในการเจริญเติบโต

การใช้แหนแดงในนาข้าว
1. เตรียมแหนแดงในบ่อพัก หรือบ่อซีเมนต์
2. จะต้องรักษาระดับน้ำในนาข้าวให้ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพราะว่าแหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดี
3. ใช้แหนแดงประมาณ 50-100 กิโลกรัมต่อที่นา 1 ไร่ และในวันที่ใส่แหนแดงควรจะมีการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ เช่น มูลไก่ ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสในอัตราส่วน 3 ก.ก. / ไร่
4. ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์อีกครั้งเมื่อแหนแดงอายุครบ  7-10  วัน

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชีวิตเรา หรือชีวิตใคร

                   เราเคยถามตัวเองไหมว่า การที่เราทำงานอยู่ทุกๆวันนี้เราทำเพื่อใคร ทำเพื่ออะไร สวมหน้ากาก สวมหัวโขนเข้าหากันในทุกวันนี้เราทำเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อศักดิ์ศรี  เกียรติยศ  ความอยู่รอด หรือเพียงแค่เพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว  ยกตัวอย่าง บางคนเขาสวมหัวโขนให้เพื่อเป็นขี้ข้าระดับสูงขององค์กรก็คิดว่าตัวเองใหญ่ไม่ยอมใคร  อีกคนก็ถูกสวมหัวโขนเหมือนๆกันเป็นขี้ข้าระดับสูงขององค์อีกเหมือนกัน แต่อยู่คนละฝ่าย  ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองใหญ่ไม่ยอมกันมีตัวอย่างให้เห็นในองค์กรหลายๆที่  สุดท้ายแล้วเป็นขี้ข้าเขาเราต้องการอะไรกันแน่  เป็นขี้ข้าเขาแล้วมันก็เป็นแค่อาชีพ อาชีพหนึ่งที่เราต้องการแค่เลี้ยงปากท้องใช่หรือไม่  



                  มนุษย์บ้านนอกหลายคนหลั่งไหลเข้าเมืองกรุงเพื่อทำงานหาเงิน  รวมไปถึงตัวผมเองด้วย เราเคยรู้ไหมว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างขาดหายไปจากชีวิตของเรา หลายอย่างที่เราหลงลืมมันไปว่ามันคือชีวิต ไม่ใช่มนุษย์หุ่นยนต์ แต่เป็นมนุษย์ที่มีสังคม มีอารยธรรม มีวิถีชีวิต มีประเพณีวัฒนธรรม  จากสังคมที่เกื้อกูลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  แบ่งปันช่วยหลือกัน ทุกวันนี้มันเริ่มหายไปมากแล้ว  สมัยก่อนการลงแขกเกี่ยวข้าวมีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา  ญาติพี่น้อง คนในหมู่บ้านนัดหมายกันลงแขกเกี่ยวข้าว บ่อปลาในทุ่งนาที่ปลากำลังมัน พากันเอาแหไปทอดเพื่อมาทำกับข้าวกินกันตอนเที่ยง ว่าวสนูแหวกว่ายทวนลมส่งเสียงแว่วจากท้องฟ้า  ลมเย็นๆหน้าหนาว  คนหลายๆคนช่วยกันเกี่ยวแค่วันเดียวก็เกี่ยวเสร็จเป็นสิบๆไร่  ตอนเย็นเลี้ยงข้าวเลี้ยงปลากัน  หมักสาโทไว้กินกันเอง ใครใคร่กินก็กิน ใครกินไม่ได้ก็กินอย่างอื่นไป  ต่างคนต่างเมา  ขอบอกขอบใจกันแล้วก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน  วันใหม่ก็ไปลงแขกเกี่ยวข้าวที่ท้องทุ่งนาอีกคน  วัฒนธรรมแบบนี้มันแทบจะไม่มีแล้วในสังคมปัจจุบัน เรารู้หรือไม่ว่ามันขาดหายไป

                       ผมเคยนั่งคิดถึงวันเวลาที่ผันผ่านไปเรื่อยๆแบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุดรอผมแม้แต่เสี้ยววินาที การกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเหมือนมันจะสั้นลงเรื่อยๆ  ผมกลัวเหลือเกินว่าวัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่ตอนสมัยเด็กๆมันจะเลือนหายไปเสียก่อน  ชีวิตมันเป็นของใครกันแน่เป็นทาสของระบบทุนนิยมหรือเปล่า ที่แม้กระทั่งอยากจะไปมีชีวิตเป็นของตัวเองมันชั่งยากถึงเพียงนี้  กลัวไปไม่รอดบ้าง  กลัวไม่มีรายได้เพื่อใช้หนี้บ้าง  ต่างๆนานา

                        เราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะปลดปล่อยตัวเองออกจากสังคมวัตถุนิยมอย่างนี้ไปได้ หลายคนทิ้งบ้านนอกเข้ามาอยู่เมืองหลวงซื้อบ้านหลังเป็นล้าน สองล้าน ผ่อนกันเข้าไปผ่อนกันชั่วลูกชั่วหลาน  ถ้าชั่วชีวิตนี้ผ่อนไม่หมดก็ยกมรดกหนี้สินให้ลูกให้หลานไปผ่อนต่อไป  โจน จันได กล่าวว่า " ทำไมการที่เราจะมีบ้านเพื่ออยู่อาศัยสักหลังทำไมจะต้องทำให้มันยุ่งยากถึงเพียงนี้ ก็ในเมื่อเราก็สร้างบ้านเองได้ สร้างที่อยู่อาศัยเองได้"   ราคาค่างวดในการผ่อนบ้านก็ใช่ว่าจะมีแค่ค่าเช่าซื้อบ้านเท่านั้น แต่ต้องมีค่าส่วนกลางโน่นนี่เฉลี่ยก็เืดือนละเป็นพันบาท  มันใช่ซะที่ไหนเล่าก็ในเืมื่อเราซื้อบ้านแล้วเรายังต้องมาเสียค่าส่วนกลางนั่นอีก  มันจะต่างหรือไม่ว่าเรามาเสียค่าเช่าบ้านตัวเอง  สรุปได้่ว่าการใช้ชีวิตในสังคมเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เงิน  เราต้องตรากตรำทำงานเพื่อแลกกับเงิน เพื่อที่จะส่งค่าบ้าน ส่งค่ารถ การที่เราไม่มีเงินเราก็ไม่สามารถที่จะอยู่ในสังคมเมืองได้ไม่ว่ากรณีใดๆทั้งสิ้นกระนั้นหรือ

                       มันก็เหลือเพียงแค่อีกทางเลือกเดียวเท่านั้นที่จะใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเองได้ก็คือหันหลังกลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อเริ่มต้นวิถีพอเพียง....

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปราชญ์ผู้นำแนวคิด บนวิถีพอเพียง

โจน จันได
          "ผมเคยไปอยู่กรุงเทพฯ 7 ปี ไม่เคยกินอิ่มเลย และถามตัวเองว่าชีวิตเราทำงานให้ใคร  ผมก็เลยกลับบ้านไปเป็นชาวนา  แต่ผมก็ไม่ได้อยู่อย่างชาวบ้านเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกผักเพื่อขาย  ยิ่งปลูกยิ่งไม่เหลืออะไรทั้งๆที่ชีวิตเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่รู้คนส่วนใหญ่ทำให้ชีวิตซับซ้อน  จนไม่มีเวลาคิดถึงตัวเอง  คิดถึงแต่งาน งาน  หาเงินและใช้เิงิน  ทำงานหนักขนาดนี้แล้วไม่พอกิน ก็ต้องคิดแล้ว" โจน จันได กล่าว

นริศ  คำธิศรี

          แนวคิด : การประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ต้องรวยเงินทอง เพราะการมีเงินมากๆไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เรามีความสุข ความสุขแท้จริงของชีวิตก็คือ ความมีอิสระในด้านความคิด การกระทำ  และการทำงานอย่างมีความสุข โดยมีคติประจำใจว่า "เพิ่มผลผลิตแบบคนไต้หวัน ขยันแบบคนเกาหลี สู้ไม่หนีแบบคนอิสราเอล หนักแน่นในใจแบบญี่ปุ่น ทดแทนคุณแผ่นดินเหมืิอนคนไทย

มาร์ติน  วีลเลอร์
       เขยอีสานชาวอังกฤษ


ธงไชย  คงคาลัย
               ปลดหนี้ 50 ล้านด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  "พึ่งตนเองได้ ชนะฝรั่ง ชนะทุนนิยม ชนะคนทั้งโลก" ธงไชย  คงคาลัย เป็นบุลคลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง  ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่เคยเดินตามแนวเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในบริษัทชั้นนำของเมืองไทย  คนเกิดความฮึกเหิมด้วยรากฐานขององค์ความรู้ประกอบกับมีชั้นเชิงทางธุรกิจแบบทุนนิยม จึงเปิดธุรกิจของตนเอง โดยลงทุนทำฟาร์มไก่  เลี้ยงปลา แต่กลับโชคร้ายธุรกิจล้มเหลวจนทำให้เป็นหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท



                 ด้วยคำสอนของหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ เตือนสติให้กลับคืนมาว่าวขึ้นสูงโดนลมโต้บ้าง..ธรรมดา” และ “ความรู้อยู่ในธรรมชาติ  ใครค้นหาเจอก่อนคนนั้นชนะ” เขามุ่งมั่นแก้ไขปัญหา โดยทบทวนความรู้จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ  เพื่อพลิกฟื้นชีวิตโดยยึดหลักพึ่งตนเอง  และมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ตามแนวพระราชดำริของในหลวง   “กำหนดราคาพืช ราคาสัตว์ได้  แก้ปัญหาดินเปรี้ยว  โดยไม่ใช้ปูนทุกชนิด พึ่งตนเอง 5 ด้าน ไม่ใช้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงสัตว์  และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  และยาเคมีในการทำการเกษตรเลย..




วิวัฒน์  ศัลยกำธร
เวาว์วัช  หนูทอง
บุญเลิศ  ไทยทัตกุล
พยงค์  ศรีทอง
ไกร  ชมน้อย

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำไมเราจะใช้ชีวิตแบบพอเพียงกันไม่ได้แล้วหรืออย่างไร

                    หลายคนหลบแสงสีในเมืองกรุง  มุ่งหน้าไปเรียนรู้วิถีพอเพียงกับ พี่โจน จันได ถึง อำเภอ เชียงดาว จังหวัด เชียงใหม่  เพื่อที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างพอเพียง หรือเพื่อที่จะทดสอบว่าตัวเองเป็นคนที่จะพอเพียงได้หรือไม่  บางคนก็ประสบความสำเร็จในการรู้จักการใช้ชีวิตพอเพียง ก็ดีไป แต่บางคนกลับล้มเหลวไม่สามารถใช้ชีวิตที่พอเพียงได้  ต้องกลับมาพึ่งปัจจัยภายนอกจากสังคมทุนนิยมเหมือนเดิมเพราะเหตุใด




                         จริงๆแล้วมนุษย์เราต้องการแค่ปัจจัย 4 คือ มีที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม จริงหรือ หรือว่าต้องการมากกว่านั้น
                        เรามาพูดกันให้ชัดำไปเลยว่า  ถ้ามนุษย์เราไม่มีปัจจัยภายนอก  เพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพื่อตอบสนองตามต้องการของตัวเองแล้ว  มนุษย์เราจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ดได้หรือไม่  ประการแรก ถ้ามนุษย์เราในสังคมปัจจุบันถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือจะดำรงชีวิตอยู่ได้หรือไม่  มนุษย์ยุคใหม่อาจจะบอกแบบไม่ต้องคิดเลยว่าอยู่ไม่ได้  ผมก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโทรศัพท์มือถือไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เรา  แต่จริงๆแล้วมันยังมีคนที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือเลยเขาก็ดำรงชีวิตอยู่ได้  เช่นพ่อแม่เราในยุคปัจจุบัน ณ ขณะนี้ท่านก็ไม่ได้พกโทรศัพท์มือถือ ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็ทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้

                          เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถที่จะพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้อง  อาศัยปัจจัยภายนอกเหล่านี้ หรืออาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยลง  ถ้ากลับไปอยู่ในป่าดำรงชีวิตแบบไม่ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ต้องมีแอร์ มีพัดลม ไม่มีเครื่องซักผ้า  อยู่แบบบรรพบุรุษของเรา  มันคงเป็นไปไม่ได้แล้วจริงหรือ  หรือว่าเป็นเป็นไปได้  ถ้ากลับไปอยู่แบบนั้นคงไม่พาลมีคนหาว่าเป็นคนบ้าแน่นอน  อย่าว่าแต่จะไปอยู่ป่าเลย แค่จะกลับไปอยู่บ้านนอก  ลาออกจากงานประจำที่มีเงินเดือนเพื่อยังชีพและไปใช้ชีวิตแบบพอเพียง  ทำเกษตรผสมผสาน  คงไม่วายมีคนบอกว่า "มันบ้าไปแล้ว" เป็นแน่

                   อย่างไรก็ตามการจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง หรือจะใช้ชีิวิตแบบพึ่งตนเองนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถตัดขาดจากสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวกแบบไม่จำเป็นได้หรือไม่  ถ้าทำได้เราก็สามารถที่จะอยู่แบบพึ่งตนเองได้....

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มาทำความรู้จักชีวิตที่พอเพียงกัน

               หลายคนคงเคยได้ยินกับคำว่าพออยู่ พอกิน เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนว พระราชดำรัสของในหลวง แต่จะมีสักกี่คนที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ และยึดนำไปปฏิบัติ จริงๆแล้วเศรษฐกิจพอเพียง มันไม่ได้มีความหมายพิศดารเกินการใช้ชีวิตแบบรากเง่าของมนุษย์เราเลย   จริงๆแล้วมันก็คือการใช้ชีวิตแบบปู่ ย่า ตา ยาย  ของเรานั่นเอง โดยที่เราไม่ต้องหลงไปตามกระแสของวัตถุนิยมของโลกปัจจุบัน 




               ผมเคยนั่งคิดอยู่วันละหลายรอบเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง  อยู่แบบ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เคยใช้ชีวิตอยู่แต่เก่าก่อน ซึ่งถ้าผมตัดสินใจที่จะลาออกจากงาน แล้วมุ่งหน้าสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อจะไปใช้ชีวิตแบบรากเหง้าของตัวเองนั้น ผมจะอยู่รอดหรือไม่  ลาออกจากงานแล้วจะจะมีชีวิตที่ดีหรือไม่  จะอดตายหรือไม่ หนี้สินที่สร้างไว้แบบไม่น้อยหน้าใครจะทำอย่างไรถึงจะมีรายได้มาใช้หนี้เหล่านี้  จากบทความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมเคยอ่าน  บ้างก็บอกว่า  "ก็อยู่แบบพอเพียงนี่แหละถึงจะใช้หนี้หมด"   บ้างก็บอกว่า "อยู่แบบพอเพียงนี่แหละถึงจะรวย"

                แต่ก็มีหลายคนบอกว่า การที่เราจะรวยนั้นมันไม่สำคัญคัญเท่ากับความสุขที่เราได้รับจากการที่ไม่ต้องใ้ห้ใครมาชี้นิ้วสั่งงาน  ไม่ต้องมาแหกขี้ตาตื่นตอนเช้าเพราะเสียงนาฬิกาปลุก หรือเพียงเพราะเบี้ยขยันไม่กี่ร้อยบาทที่พวกนายจ้างเอามาหลอกล่อให้เรามาเข้างานตรงเวลา หรือไม่ขาดไม่ลา  ซึ่งความสุขเล็กๆน้อยๆจากเงินเดือน เงินโบนัส เบี้ยขยันหรือรางวัลทั้งหลายเหล่านี้  ทำให้เราต้องทนทำงานหน้าแดงหน้าดำตั้งแต่ต้นเืดือนจนสิ้นเดือนกระนั้นหรือ
              
              โจน จันได  ผู้ปลีกตัวออกจากสังคมเมืองแบบไม่ใยดี  กล่าวว่า  " เราต้องทำงานทั้งวัน วันละ 8 ชั่วโมงเพียงเพราะค่ากับข้าวไม่กี่มื้อกระนั้นหรือ ก็ในเมื่อเราก็มามารถที่จะทำงานแค่วันละไม่ถึง 30 นาที ในการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เราก็สามารถเลี้ยงครอบครัวเล็กๆได้แล้ว "

            มาร์ติน  วีลเลอร์  ฝรั่งชนชั้นกลางจากเมืองผู้ดี  หรือประเทศอังกฤษ    มาเป็นชาวนาในภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า " คนไทยไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นชาวต่างชาติดีกว่า เห็นคุณค่าในวัตถุนิยม อะไรที่เป็นของต่างชาตินั้นดีหมดของไทยสู้ไม่ได้ ทั้งๆที่คนไทยมีอะไรดีๆกว่าฝรั่งตั้งเยอะ"

                 หัวโขนที่เขาสวมใส่ให้นั้น  บางคนก็หลงระเริงไปกับบทบาทหน้าที่ที่เขามอบหมายให้  มีลูกน้องก็คิดว่าเขาเป็นขี้ข้าตัวเอง  แต่จริงๆแล้วมันก็ขี้ข้าเหมือนกันทั้งนั้น  ภาษาฝรั่งสอนกันเข้าไป เรียนกันเข้าไป   สื่อสานกันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็พูดกันเข้าไป  ขนาดภาษาไทยมันยังพูดกันไม่รู้เรื่อง  มาร์ติน วีลเลอร์ กล่าวว่า  "มันเป็นภาษาของพวกขี้ข้า เรียนไปเพื่อที่จะไปเป็นขี้ข้า  คนที่เขาไม่อยากเป็นขี้ข้าเขาไม่เรียนหรอก"  มันก็ใช่นะคนที่เรียนภาษาฝรั่งก็เพียงเพื่อจะไปเป็นขี้ข้าทั้งนั้น ถ้าคนที่เขาไม่อยากเป็นขี้ข้า  เขาต้องพูดภาษาของตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

                  การที่จะอยู่อย่างพอเพียงนั้น มันก็แค่เราหันกลับมามองตนเองว่า เราต้องการอะไรในการดำรงชีวิต มีเท่าที่จำเป็นต้องใช้  กินเท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่เพราะกระแสนิยม หรือกลัวสังคมเขาไม่ยอมรับจึงต้องมีและต้องเป็นอย่างคนอื่น  คนไทยเรามักจะมองแต่คนต่างชาติว่าเขาดีไปซะทุกอย่าง อะไรที่เป็นแบบไทยๆหรือภูมิปัญญาแบบไทยๆ ก็หาว่าโบร่ำโบราณล้าสมัยไป จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้เหมือนอย่างเขาจึงจะถือว่าเป็นชาติที่พัฒนา  

                      หลักสูตรการเรียนสมัยใหม่ยิ่งเรียนก็ยิ่งโง่ สอนกันเข้าไป เรียนกันเข้าไป ในหลักสูตรไม่ได้สอนให้คนรู้จักพึ่งตนเอง สอนให้คนไปเป็นขี้ข้า ถ้าไม่เป็นขี้ข้าก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินกันยังไง จบออกมาตกงานมีอย่างที่ไหน มีความรู้แล้วตกงานได้อย่างไร  หาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ บ้างก็ฆ่าตัวตายเพราะเครียดหางานทำไม่ได้  ทำไมคนๆหนึ่งจบออกมาแล้วต้องทำงานได้แค่อย่างเดียวจบคอมพิวเตอร์ทำไมต้องทำงานได้แค่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างเดียวแถมต้องพ่วงประสบการณ์อีก ถ้าตำแหน่งงานไม่ว่างก็ตกงานทำมาหากินไม่ได้  ผมมานั่งนึกว่าทำไมรุ่นปู่ รุ่นย่า หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา จบแค่ ป. 4 ทำไมเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้  ทำไมคนๆเดียวมีวิชาชีพตั้งหลายอย่าง  ทำไมทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ทำนา เลี้ยงสัตว์ จักรสาน ทำวัสดุอุปกรณ์ไว้ใช้เอง  สร้างบ้าน รู้จักยาสมุนไพร รู้จักทำเครื่องนุ่งหุ่มไว้ใช้เอง ทำไมทำได้  แต่ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงทำไมได้  อย่ากระนั้นเลยแค่ร้านอาหารปิด เซเว่นปิด มื้อนั้นหลายๆชีวิตในเมืองกรุงเป็นต้องอด

                     นานาทัศนะเกี่ยวกับวิถีพอเพียง  เราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพเกษตรกรรม ไม่จำเป็นต้องไปทำเสื้อผ้าไว้ใช้เอง ไม่จำเป็นต้องสร้างบ้านไว้อยู่เอง ไม่จำเป็นต้อง ผลิตยาสมุนไพรไว้ใช้เอง กล่าวโดยรวมไม่จำเป็นต้องทำอะไรเองเสียทุกอย่าง แค่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ไม่สร้างความวุ่นวายเดือดร้อนให้กับใคร  ไม่ตามกระแสนิยมอยากมีอยากได้ อยากมีอยากเป็นเหมือนคนอื่นเขาซะทุกอย่างไป   ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีตัวเองเป็นและเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็เพียงพอ...




                  
 

Sample text

Sample Text

Sample Text